Moroccan Crisis (1905-1906, 1911)

วิกฤตการณ์โมร็อกโก (๒๔๔๘-๒๔๔๙, ๒๔๕๔)

​​​     วิกฤตการณ์โมร็อกโกเป็นวิกฤตการณ์ระหว่างประเทศที่เกิดขึ้น ๒ ครั้ง มีสาเหตุมาจากความขัดแย้งกันระหว่างฝรั่งเศสกับจักรวรรดิเยอรมัน (German Empire)* ในการแผ่อำนาจเข้าไปในโมร็อกโกในแอฟริกาเหนือ วิกฤตการณ์โมร็อกโกครั้งที่ ๑ เกิดขึ้นระหว่าง ค.ศ. ๑๙๐๕-๑๙๐๖ และครั้งที่ ๒ ใน ค.ศ. ๑๙๑๑ ในวิกฤตการณ์โมร็อกโกครั้งที่ ๑ เยอรมนีคาดหวังว่าวิกฤตการณ์โมร็อกโกจะทำลายความสัมพันธ์อันดีระหว่างอังกฤษกับฝรั่งเศสซึ่งขณะนั้นได้เป็นพันธมิตรกันตามความตกลงอังกฤษ-ฝรั่งเศส (Anglo-French Entente)* หรือความตกลงฉันมิตร (Entente Cordiale)* ค.ศ. ๑๙๐๔ แต่ล้มเหลวเพราะกลับทำให้ทั้ง ๒ ประเทศมีความสัมพันธ์กันใกล้ชิดมากขึ้น ส่วนวิกฤตการณ์โมร็อกโกครั้งที่ ๒ ความพยายามของเยอรมนีที่จะทำลายระบบพันธมิตรของฝรั่งเศสซึ่งประกอบด้วยอังกฤษและรัสเซียก็ประสบความล้มเหลวเช่นกัน
     วิกฤตการณ์โมร็อกโกครั้งที่ ๑ เป็นผลสืบเนื่องจากการที่ฝรั่งเศสได้ทำสนธิสัญญาลับกับสเปนใน ค.ศ. ๑๙๐๔ เพื่อแบ่งโมร็อกโกระหว่างกันและตกลงลับกับอังกฤษที่จะไม่ขัดขวางอังกฤษในการขยายอำนาจเข้าไปในอียิปต์เพื่อยึดอียิปต์เป็นรัฐอารักขาในอนาคต โดยมีเงื่อนไขว่าอังกฤษจะไม่ยุ่งเกี่ยวในโมร็อกโกและยอมให้ฝรั่งเศสเข้ายึดโมร็อกโก ชาวฝรั่งเศสจึงเริ่มเข้าไปตั้งถิ่นฐานในโมร็อกโก ขณะเดียวกันเยอรมนีก็พยายามจะขัดขวางการขยายอิทธิพลของฝรั่งเศส เพราะเห็นว่าการเข้าไปในโมร็อกโกของฝรั่งเศสโดยไม่ทำความตกลงกับตนก่อนเป็นการสบประมาทอย่างรุนแรง นอกจากนี้ เยอรมันยังต้องการให้ใช้นโยบายเปิดประตูการค้า (open-door policy) ในโมร็อกโก และเจ้าชายแบร์น-ฮาร์ด ฟอน บือโลว์ (Bernhard von Bülow)* อัครเสนาบดีเยอรมันก็เห็นว่าความต้องการโมร็อกโกของฝรั่งเศสเป็นช่องทางหนึ่งที่จะทำให้เยอรมนีสามารถแสดงบทบาทในเวทีระหว่างประเทศได้มากขึ้น
     ในปลายเดือนมีนาคม ค.ศ. ๑๙๐๕ ไกเซอร์วิลเลียมที่ ๒ (William II ค.ศ. ๑๘๘๘-๑๙๑๘)* แห่งจักรวรรดิเยอรมันจึงเสด็จเยือนเมืองแทนเจียร์ (Tangier) โดยไม่ทรงแจ้งล่วงหน้าและทรงกล่าวคำปราศรัยที่สร้างความครึกโครมว่าพระองค์สนับสนุนอำนาจอธิปไตยของสุลต่านแห่งโมร็อกโก และทรงสัญญาว่าจะพิทักษ์ เอกราชของโมร็อกโกอย่างเต็มที่ ทั้งเรียกร้องให้ทุกประเทศมหาอำนาจมีสิทธิเท่าเทียมกันในการแสวงหาผลประโยชน์ในโมร็อกโก คำประกาศของเยอรมนีดังกล่าวจึงนำไปสู่การเกิดวิกฤตการณ์โมร็อกโกครั้งที่ ๑ เยอรมนีคาดหวังว่าวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นจะทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างฝรั่งเศสกับอังกฤษและรัสเซียสั่นคลอนขณะเดียวกันก็คาดว่ารัสเซียซึ่งเพิ่งพ่ายแพ้สงครามรัสเซีย-ญี่ปุ่น (Russo-Japanese War ค.ศ. ๑๙๐๔-๑๙๐๕)* และกำลังเผชิญกับวิกฤตการณ์ทางการเมืองภายในประเทศอันสืบเนื่องจากเหตุการณ์วันอาทิตย์นองเลือด (Bloody Sunday)* ค.ศ. ๑๙๐๕ คงจะไม่สามารถสนับสนุนฝรั่งเศสได้ ส่วนอังกฤษซึ่งเห็นท่าทีแข็งกร้าวของเยอรมนีก็อาจถอนตัวจากการเป็นพันธมิตรกับฝรั่งเศสและกลับไปใช้นโยบายอยู่อย่างโดดเดี่ยว (splendid isolation) เมื่อเยอรมนีเรียกร้องให้มีการจัดการประชุมระหว่างประเทศขึ้นเพื่อพิจารณาปัญหา โมร็อกโก เตโอฟีล เดลกาเซ (Théophile Delcassé)* รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศฝรั่งเศสซึ่งอังกฤษให้การสนับสนุนอย่างลับ ๆ จึงกล้าแสดงท่าทีแข็งกร้าวที่จะไม่เข้าร่วมการประชุมที่จะจัดขึ้น เพราะมั่นใจว่าเยอรมนีไม่กล้าจะก่อสงครามและเพียงข่มขู่ฝรั่งเศสเท่านั้น แต่ในกลางเดือนมิถุนายน นายกรัฐมนตรีโมรีซ รูวีเย (Maurice Rouvier) ซึ่งมีนโยบายประนีประนอมเกรงว่าหากเยอรมนีโจมตีฝรั่งเศส ฝรั่งเศสจะเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ได้พยายามแก้ไขสถานการณ์ด้วยการปลดเดอกลาเซออกและตกลงรับข้อเสนอของเยอรมนีที่จะให้มีการประชุมเพื่อพิจารณาเรื่องโมร็อกโกโดยกำหนดจัดการประชุมระหว่างประเทศที่เมืองอัลเคซีรัส ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนใต้ของสเปนในเดือนมกราคม ค.ศ. ๑๙๐๖ อย่างไรก็ตาม ในช่วงก่อนการประชุมเยอรมนีได้ข่มขู่ด้วยการเรียกระดมพลเข้าประจำการจนถึงเดือนธันวาคม ค.ศ. ๑๙๐๕ ฝรั่งเศสจึงตอบโต้ด้วยการเคลื่อนกำลังทัพไปประจำตามบริเวณเส้นพรมแดนและทำให้สถานการณ์ทางการเมืองระหว่างประเทศตึงเครียดยิ่งขึ้น
     การประชุมอัลเคซีรัส (Algeciras Conference)* ระหว่างวันที่ ๑๖ มกราคม ถึง ๑๗ เมษายน ค.ศ. ๑๙๐๖ นับเป็นการประชุมครั้งสำคัญเพื่อแก้ไขปัญหาภายในของโมร็อกโก ขณะเดียวกันก็เป็นการประชุมเพื่อทดสอบความมั่นคงของความตกลงอังกฤษ-ฝรั่งเศสหรือความตกลงฉันมิตร ค.ศ. ๑๙๐๔ ด้วย มีผู้แทนชาติมหาอำนาจและประเทศต่าง ๆ เข้าร่วมรวม ๑๓ ประเทศ ออสเตรียฮังการีสนับสนุนเยอรมนี ในขณะที่อังกฤษสนับสนุนฝรั่งเศส ผลสำคัญของการประชุมคือ การลงนามร่วมกันในบัญญัติแห่งอัลเคซีรัส (Act of Algeciras) ของประเทศมหาอำนาจที่เกี่ยวข้องโดยโมร็อกโกเป็นรัฐอธิปไตยที่ประเทศต่าง ๆ สามารถเข้ามาติดต่อค้าขายได้อย่างเสรี ฝรั่งเศสได้สิทธิพิเศษในการจัดตั้งและฝึกฝนหน่วยตำรวจโมร็อกโกให้เป็นตำรวจระหว่างชาติร่วมกับสเปนเพื่อควบคุมท่าเรือเสรีของโมร็อกโกและยังได้ควบคุมด้านอากรศุลกากรและจัดส่งกำลังอาวุธแก่โมร็อกโกวิกฤตการณ์ครั้งนี้แทนที่จะทำลายความเข้าใจอันดีระหว่างอังกฤษกับฝรั่งเศสกลับทำให้ทั้ง ๒ ประเทศมีความสัมพันธ์กันแน่นแฟ้นมากขึ้น
     แม้วิกฤตการณ์โมร็อกโกครั้งที่ ๑ หรือที่เรียกกันว่าวิกฤตการณ์แทนเจียร์ (Tangier Crisis) จะยุติความขัดแย้งระหว่างฝรั่งเศสกับเยอรมนีได้ แต่เยอรมนีก็ขุ่นเคืองที่เห็นฝรั่งเศสได้ผลประโยชน์มากกว่าตน ส่วนฝรั่งเศสก็ยังคงไม่พอใจท่าทีของเยอรมนีในการพยายามก่อสถานการณ์ในโมร็อกโกเพื่อนำไปสู่การเกิดสงครามระหว่าง ค.ศ. ๑๙๐๖-๑๙๐๗ ฝรั่งเศสจึงพยายามประสานไมตรีระหว่างอังกฤษกับรัสเซีย ซึ่งเป็นพันธมิตรตนให้มีความสัมพันธ์อันดีต่อกัน อังกฤษและรัสเซียต่างก็ตระหนักถึงท่าทีการคุกคามของเยอรมนี ทั้ง ๓ ประเทศจึงเห็นความจำเป็นที่จะต้องกระชับไมตรีระหว่างกันมากขึ้น และนำไปสู่การลงนามความตกลงอังกฤษ-รัสเซีย (Anglo-Russian Entente) ค.ศ. ๑๙๐๗ ได้สำเร็จซึ่งเป็นที่มาของความตกลงไตรภาคี (Triple Entente)* ที่แบ่งมหาอำนาจยุโรปออกเป็น ๒ ค่าย ในเวลาต่อมาขณะเดียวกันเซอร์เอดเวิร์ด เกรย์ (Edward Grey)* รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอังกฤษระหว่าง ค.ศ. ๑๙๐๕-๑๙๑๖ ซึ่งเห็นการข่มขู่ฝรั่งเศสของเยอรมนีในโมร็อกโกก็ตระหนักว่าเยอรมนีอาจก่อปัญหาให้แก่ยุโรปได้ในอนาคต ตั้งแต่ ค.ศ. ๑๙๐๖ เป็นต้นมาเกรย์จึงสนับสนุนการร่วมมือทางทหารกับฝรั่งเศสทางภาคพื้นทะเล โดยอังกฤษจะรับผิดชอบดูแลด้านมหาสมุทรแอตแลนติกและช่องแคบอังกฤษ ส่วนฝรั่งเศสดูแลด้านทะเลเมติเตอร์เรเนียน นอกจากนี้ ก่อนเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๑ (First World War)* ค.ศ. ๑๙๑๔ เกรย์ก็ได้ขยาย ขอบเขตความร่วมมือทางทหารให้กว้างขึ้นโดยให้รัสเซียเข้าร่วมด้วย
     ต่อมา ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๐๘ ฝรั่งเศสและเยอรมนีได้ทำความตกลงยืนยันสถานภาพของโมร็อกโกอีกครั้ง โดยเยอรมนีรับรองสิทธิพิเศษของฝรั่งเศสในโมร็อกโก และฝรั่งเศสยอมรับบทบาทของเยอรมนีที่จะขยายการค้าในแอฟริกาเหนือในเดือน ตุลาคม ค.ศ. ๑๙๐๘ ได้เกิดวิกฤตการณ์บอสเนีย (Bosnian Crisis)* ขึ้นที่สืบเนื่องจากออสเตรีย-ฮังการีเข้ายึดครองบอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา (Bosnia and Herzegovina) โดยเยอรมนีสนับสนุนทั้งข่มขู่ที่จะใหกำลังทหารเข้าตัดสิน เซอร์เบียและรัสเซียต่อต้านแต่ก็ประสบความล้มเหลวและต้องยอมรับรองการผนวกดินแดนดังกล่าว เพราะยังไม่พร้อมที่จะก่อสงครามกับเยอรมนีและออสเตรีย-ฮังการี ในวิกฤตการณ์ครั้งนี้อังกฤษกับฝรั่งเศสดำเนินนโยบายเป็นกลางซึ่งทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียกับอังกฤษและกับฝรั่งเศสร้าวฉานไปช่วงระยะเวลาหนึ่ง แต่หลังจากเหตุการณ์ครั้งนี้รัสเซียซึ่งสูญเสียศักดิ์ศรีอย่างมากก็มุ่งมั่นอย่างเด็ดขาดว่าจะไม่ยอมให้มีการข่มขู่เช่นนี้อีกและจะต่อต้านอย่างเข้มแข็ง ต่อมาใน ค.ศ. ๑๙๐๙ รัสเซียได้ทำความตกลงกับอิตาลีเมื่อวันที่ ๒๔ ตุลาคม ค.ศ. ๑๙๐๙ เพื่อคานอำนาจของออสเตรีย-ฮังการีและเยอรมนีในคาบสมุทรบอลข่าน และเคานต์อะเล็กซานเดอร์ เปโตรวิช อิซวอลสกี (Alexander Petrovich Izvolsky)* เอกอัครราชทูตรัสเซียประจำกรุงปารีสระหว่าง ค.ศ. ๑๙๑๐-๑๙๑๗ ก็พยายามกระชับความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับฝรั่งเศส
     การที่ฝรั่งเศสและสเปนได้ร่วมกันจัดตั้งหน่วยตำรวจระหว่างประเทศเพื่อควบคุมเมืองท่าโมร็อกโกได้สร้างความไม่พอใจแก่ชาวโมร็อกโกอย่างมากและนำไปสู่การทำร้ายและสังหารชาวฝรั่งเศสหลายคน รัฐบาลฝรั่งเศสจึงส่งกองกำลังทหารเข้าไปรักษาความสงบในเมืองต่าง ๆ ที่มีชาวฝรั่งเศสพักอาศัย ขณะเดียวกันนโยบายดังกล่าวกลับสร้างความไม่พอใจให้เพิ่มมากขึ้นและก่อให้เกิดการเคลื่อนไหวต่อต้านสุลต่านมูไล ฮาฟิด (Mulai Hafid) ซึ่งนิยมฝรั่งเศสและเห็นว่าการประจำการของทหารฝรั่งเศสเป็นสิ่งจำเป็น ในต้นเดือนธันวาคม ค.ศ. ๑๙๑๐ สุลต่านฮาฟิดจัดการประชุมเพื่อยืนยันรับรองบัญญัติอัลเคซีรัส ค.ศ. ๑๙๐๖ แต่ฝ่ายต่อต้านพระองค์กลับมองว่าโมร็อกโกได้ประกาศยอมรับอำนาจการอารักขาของฝรั่งเศส เยอรมนีจึงเรียกร้องที่จะเข้ามาทำการค้าและขยายเศรษฐกิจในโมร็อกโกร่วมกับฝรั่งเศสมากขึ้น แต่สุลต่านพยายามหลีกเลี่ยงที่จะตกลงด้วย
     ใน ค.ศ. ๑๙๑๑ ปัญหาโมร็อกโกกลายเป็นชนวนความขัดแย้งทางการเมืองอีกครั้งหนึ่งและนำไปสู่การเกิดวิกฤตการณ์โมร็อกโกครั้งที่ ๒ หรือที่เรียกว่าวิกฤตการณ์อากาดีร์ (Agadir Crisis) ชนวนของวิกฤตการณ์โมร็อกโกครั้งนี้สืบเนื่องจากการเคลื่อนไหวล้มล้างอำนาจสุลต่าน สุลต่านจึงทรงขอความช่วยเหลือจากฝรั่งเศส ฝรั่งเศสได้ส่งกำลังทหารเข้าไปยังกรุงเฟซ (Fez) เมืองหลวงของโมร็อกโกในวันที่ ๒๑ พฤษภาคม เพื่อควบคุมสถานการณ์ เยอรมนีเรียกร้องให้ฝรั่งเศสเคารพข้อตกลงบัญญัติแห่งอัลเคซีรัสและให้ถอนกำลังออกจากกรุงเฟซแต่ล้มเหลว ในวันที่ ๑ กรกฎาคม เยอรมนีจึงแจ้งให้ชาติมหาอำนาจที่ร่วมลงนามในบัญญัติแห่งอัลเคซีรัสว่าเยอรมนีได้ส่งเรือรบแพนเทอร์ (Panther) ไปยังอากาดีร์ เมืองท่าทางตอนใต้ของ โมร็อกโกที่ตั้งริมมหาสมุทรแอตแลนติก โดยอ้างว่าเพื่อพิทักษ์ผลประโยชน์ของเยอรมนีและคุ้มครองชาวเยอรมันอังกฤษซึ่งไม่พอใจการสร้างสมกำลังทางทะเลของ เยอรมนีมาก่อนจึงเข้าใจว่าเยอรมนีมีจุดมุ่งหมายแอบแฝงจะใช้อากาดีร์เป็นฐานทัพเรือเพื่อโจมตีเรือของอังกฤษในบริเวณมหาสมุทรแอตแลนติก อังกฤษจึงสนับสนุนฝรั่งเศสต่อต้านเยอรมนี เดวิด ลอยด์ จอร์จ (David Lloyd George)* รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของอังกฤษก็ประกาศแข็งกร้าวว่าอังกฤษจะไม่ยอมซื้อสันติภาพไม่ว่าราคาใดก็ตาม ขณะเดียวกันอังกฤษก็เริ่มเตรียมกำลังทางทะเล บรรยากาศของการจะเกิดสงครามได้สร้างความตึงเครียดทั่วยุโรปตลอดช่วงฤดูร้อนและฤดูใบไม้ร่วง ค.ศ. ๑๙๑๑
     ในช่วงที่บรรยากาศการเกิดสงครามกำลังขยายตัว รัฐบาลเยอรมันพยายามเปิดการประชุมระหว่างประเทศเพื่อหาทางตกลงกับฝรั่งเศสแต่ตกลงกันไม่ได้ในต้นเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๑๑ เยอรมนีเสนอข้อตกลงที่จะให้โมร็อกโกเป็นรัฐใต้อารักขาของฝรั่งเศสยกเว้นเมืองแทนเจียร์และส่วนที่เคยเป็นของสเปนโดยแลกเปลี่ยนกับดินแดนส่วนหนึ่งของฝรั่งเศสในแอฟริกาตะวันตก ในขั้นต้นสเปนคัดค้านแต่อังกฤษได้เข้าแทรกแซงโดยโน้มน้าวให้สเปนยอมตกลงกับฝรั่งเศสในสนธิสัญญาฝรั่งเศส-สเปน (Franco-Spanish Treaty) เมื่อวันที่ ๒๗ พฤศจิกายน ทั้ง ๒ ประเทศยอมรับการแบ่งเส้นเขตแดนใหม่ของโมร็อกโกระหว่างกันซึ่งเปลี่ยนแปลงจากเดิมเพียงเล็กน้อย วิกฤตการณ์โมร็อกโกครั้งที่ ๒ จึงยุติลงเมื่อวันที่ ๔ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๑๑ โดยฝรั่งเศสยอมยกเขตคองโกของฝรั่งเศส (French Congo) ที่มีพื้นที่ ๒๕๙,๐๐๐ ตารางกิโลเมตรและส่วนใหญ่เป็นทะเลทรายให้แก่เยอรมนี และเยอรมนียอมรับรอง โมร็อกโกให้เป็นรัฐอารักขาของฝรั่งเศส อย่างไรก็ตามการรอมชอมกันดังกล่าวได้สร้างความไม่พอใจแก่ประชาชนของทั้ง ๒ ประเทศอย่างมากเพราะเห็นว่าเป็นการโอนอ่อนมากเกินไป ชาวฝรั่งเศสโกรธแค้นมากเป็นพิเศษเพราะเห็นว่าเยอรมนีหยามศักดิ์ศรีและนำวิธีการขู่กรรโชกมาใช้กับฝรั่งเศสอีกครั้งหนึ่ง
     หลังวิกฤตการณ์โมร็อกโกครั้งที่ ๒ ประเทศมหาอำนาจก็เริ่มตระเตรียมกำลังเพื่อเผชิญหน้ากันในอนาคต อังกฤษและฝรั่งเศสได้ร่วมมือกันแลกเปลี่ยนข้อมูลทางทหารระหว่างกันมากขึ้น วิกฤตการณ์โมร็อกโกและท่าทีของเยอรมนีจึงไม่เพียงทำให้อังกฤษ ฝรั่งเศส และรัสเซียมีความสัมพันธ์กันแน่นแฟ้นมากขึ้นเท่านั้นแต่ยังก่อให้เกิดบรรยากาศทางการทูตที่คลุมเครือและเต็มไปด้วยความหวาดระแวงซึ่งกันและกัน ดังนั้น การแก้ไขข้อพิพาทและการเผชิญหน้ากันในวิกฤตการณ์ ต่าง ๆ ในเวลาต่อมาระหว่างกลุ่มประเทศความตกลงไตรภาคี (ฝรั่งเศส อังกฤษ รัสเซีย) กับกลุ่มประเทศ สนธิสัญญาพันธไมตรีไตรภาคี (Triple Alliances)* (เยอรมนีออสเตรีย-ฮังการีอิตาลี) จึงยากที่จะรอมชอมกันได้ และทำให้การแก้ไขข้อขัดแย้งโดยสันติวิธีและการหลีกเลี่ยงสงครามมีความยากลำบากมากขึ้นเป็นลำดับด้ว



คำตั้ง
Moroccan Crisis
คำเทียบ
วิกฤตการณ์โมร็อกโก
คำสำคัญ
- วิกฤตการณ์บอสเนีย
- เฟซ, กรุง
- สงครามโลกครั้งที่ ๑
- รูวีเย, โมรีซ
- วิกฤตการณ์แทนเจียร์
- บัญญัติแห่งอัลเคซีรัส
- ความตกลงอังกฤษ-รัสเซีย
- บอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา
- ความตกลงไตรภาคี
- เกรย์, เซอร์เอดเวิร์ด
- การประชุมอัลเคซีรัส
- วิลเลียมที่ ๒, ไกเซอร์
- สงครามรัสเซีย-ญี่ปุ่น
- เหตุการณ์วันอาทิตย์นองเลือด
- วิกฤตการณ์โมร็อกโก
- บือโลว์, แบร์น-ฮาร์ด ฟอน, เจ้าชาย
- เยอรมัน, จักรวรรดิ
- แทนเจียร์, เมือง
- นโยบายเปิดประตูการค้า
- นโยบายอยู่อย่างโดดเดี่ยว
- เดลกาเซ, เตโอฟีล
- มูไล ฮาฟิด, สุลต่าน
- ความตกลงอังกฤษ-ฝรั่งเศส
- วิกฤตการณ์อากาดีร์
- ความตกลงฉันมิตร
- ลอยด์ จอร์จ, เดวิด
- คองโกของฝรั่งเศส, เขต
- อิซวอลสกี, อะเล็กซานเดอร์ เปโตรวิช, เคานต์
- สนธิสัญญาพันธไมตรีไตรภาคี
- สนธิสัญญาฝรั่งเศส-สเปน
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
1905-1906, 1911
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
๒๔๔๘-๒๔๔๙, ๒๔๕๔
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
อนันต์ชัย เลาหะพันธุ
บรรณานุกรมคำตั้ง
-
แหล่งอ้างอิง
หนังสือ สารานุกรมประวัติศาสตร์สากลสมัยใหม่ : ยุโรป เล่ม ๕ อักษร L-O ฉบับราชบัณฑิตยสถาน กองธรรมศาสตร์และการเมือง 5.M 395-576.pdf